วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

7 : ความหมายและส่วนประกอบของ Factor F

     Factor F คือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก่อสร้าง (Indirect Cost) นอกเหนือจากค่าวัสดุ ค่าแรงงาน ค่าใช้จ่ายต่างๆในการประกอบ สร้าง ติดตั้ง รื้อถอน ซ่อมแซม งานก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบ
หมวดของค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการดำเนินงานก่อสร้างที่ประกอบเป็นค่า Factor F มี4หมวดคือ
      1)หมวดค่าอำนวยการก่อสร้าง
      1.1)หมวดค่าใช้จ่ายในการทำสัญญา เช่น ค่าอากรแสตมป์ติดสัญญา , ค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันสัญญา (Performance Bond) , ค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันผลงานก่อสร้าง2ปี , ค่าเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคม 
      1.2)หมวดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสำนักงานสนาม ที่พักเจ้าหน้าที่ และยานพาหนะ เช่น บ้านพักเจ้าหน้าที่ ที่จอดเครื่องจักรและโรงซ่อม ค่าเอกสารสิ่งพิมพ์และงานด้านธุรการ ค่ารถควบคุมงาน(รวมพนักงานขับรถ) ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุง และค่าเบี้ยประกันภัยยานพาหนะ
      1.3)หมวดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรและสำนักงาน สำนักงานใหญ่ เช่น ค่าเงินเดือนพนักงานของบริษัทรับเหมาก่อสร้างและค่าใช้จ่ายอื่นๆของสำนักงานใหญ่ รวมถึงค่าน้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ เครื่องใช้สำนักงาน ของสำนักงานบริษัทรับเหมาก่อสร้าง  ตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างจนถึงการก่อสร้างแล้วเสร็จ  โดยบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารโครงการและการก่อสร้าง ตามปกติประกอบด้วย ผู้จัดการ วิศวกร ช่างเทคนิค เจ้าหน้าที่ธุรการ เจ้าหน้าที่ประสานงาน ผู้จัดการสนาม ช่างควบคุมงาน รวมถึงคนงานทั่วไป
     1.4)หมวดค่าใช้จ่ายในการบริหารความเสี่ยง คือการประกันภัยในงานก่อสร้าง  เช่น ประกันทรัพย์สิน ประกันชีวิตผู้ที่เกี่ยวข้อง  ร้อยละ0.30 ของค่างานต้นทุน
      2)หมวดค่าดอกเบี้ย
      ค่าใช้จ่ายกรณีผู้รับเหมากู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการเตรียมการก่อสร้างรวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้  ทำให้เกิดการคิดดอกเบี้ยซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายอีกประเภทหนึ่ง
     ค่าดอกเบี้ยมีความสัมพันธ์กับอัตราเงินล่วงหน้าจ่ายและอัตราเงินหักเพื่อประกันผลงานซึ่งกำหนดในงานก่อสร้าง  ถ้าอัตราเงินจ่ายล่วงหน้าสูงจะมีผลทำให้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนลดน้อยลง จะมีผลทำให้ค่าดอกเบี้ยลดลง
     การคำนวณค่าดอกเบี้ย จะคำนวณให้สำหรับระยะเวลา 3เดือนหรือ 1/4ปี เนื่องจากในการดำเนินงานก่อสร้าง ผู้ก่อสร้างจะต้องจัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆล่วงหน้า และหลังจากส่งมอบงานแต่ละงวดแล้ว ผู้รับจ้างจะต้องรอขั้นตอนการเบิกจ่ายค่างานอีกระยะเวลาหนึ่งด้วย
     การคำนวณค่าดอกเบี้ยในตารางFactor F นั้นมีสูตรการคำนวณดังนี้
     I = i/12*(r/100+(T+D-1)*a/100-(a*r)/100*(T+1)/2(D-1))
โดย
     I = ดอกเบี้ยรวมทั้งโครงการ (%)
     T = ระยะเวลา (เดือน)
     D = ช่วงเวลาการรับเงิน (เดือน)
     a = อัตราเงินล่วงหน้าจ่าย (%)
     i = อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่อปี (%)
     r = อัตราเงินประกันผลงาน (%)
     ดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับตารางFactor Fคืออัตราค่าดอกเบี้ยเฉลี่ยในอัตราขั้นต่ำในการให้กู้สำหรับลูกค้าชั้น ดี(MLR) ของธนาคารขนาดใหญ่อย่างน้อย3แห่ง ซึ่งกำหนดและประกาศโดยกระทรวงการคลัง(กรมบัญชีกลาง)  กรณีอัตราดอกเบี้ยเป็นเศษ ถ้าเศษถึง0.50ให้ปัดขึ้น  ถ้าไม่ถึง0.50ให้ปัดลง และจะประกาศอัตราดอกเบี้ยทุกปีงบประมาณ ในเดือนตุลาคมของทุกปี
     3)หมวดค่ากำไร
     ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโดยกำหนดให้ใช้อัตรากำไรทางธุรกิจ(Financial Profit)ที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำในอัตราร้อยละ 3.5-5.5%ของค่างาน
     4)หมวดค่าภาษี
      ค่าภาษีที่ผู้รับเหมาต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม(vat)ในอัตราปัจจุบัน ร้อยละ7 โดยหัก ณ ที่จ่าย

     สมการเบื้องต้นของราคากลางค่าก่อสร้างคือ
     ราคากลางค่าก่อสร้าง  = ค่างานต้นทุน(Direct  Cost) + ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก่อสร้าง (Indirect Cost)
     ในทางการคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของภาครัฐ
     ราคากลางค่าก่อสร้าง  = ค่างานต้นทุน(Direct  Cost) x Factor F
     เช่น  ราคากลางค่าก่อสร้าง  = 100,000,000 x1.155 = 115,500,00 บาท
 
     Factor F ถูกจัดทำไว้ในรูปแบบของตารางสำเร็จรูป  เรียกว่า ตาราง Factor F

     เมื่อคำนวณค่าต้นทุนทางตรงแล้ว  นำมูลค่างานก่อสร้างไปเทียบกับตาราง Factor F เพื่อMatchกับค่า Factor F ที่ต้องการในตาราง
     ตารางFactor F ถูกแบ่งตามลักษณะงานก่อสร้าง เช่น ทาง สะพาน ท่อเหลี่ยม , ชลประทาน  และแต่ละประภทงานก่อสร้าง จะแบ่งตารางFactor F ย่อยๆ  ตามเกณฑ์อื่นๆอีก4ประการคือ  %เงินล่วงหน้า, %เงินประกันผลงานหัก , ดอกเบี้ยเงินกู้ และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม
      
     นอกจากนี้ยังมีการคำนวณFactor F ใน 2ประเภทคือ กรณีไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษตามข้อกำหนดและกรณีมีค่าใช้จ่ายพิเศษตามข้อกำหนดและค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นต้องมี

ที่มา : หน้า 15 , 26 , 386 หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลาง งานก่อสร้าง ทาง สะพาน และท่อเหลี่ยมกุมภาพันธ์ 2555
        

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น