วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

29 หลักเกณฑ์การถอดแบบคำนวณปริมาณงาน งานก่อสร้างชลประทาน

     หลักเกณฑ์การถอดแบบคำนวณปริมาณงาน งานก่อสร้างชลประทาน  เป็นหลักเกณฑ์ แนวทาง และวิธีปฏิบัติ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการถอดแบบคำนวณปริมาณงาน สำหรับรายการงานก่อสร้างต่างๆ ในหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างชลประทาน
     ในการถอดแบบคำนวณปริมาณงาน ผู้มีหน้าที่คำนวณราคากลางจะต้องทราบขอบเขตงานก่อสร้างแต่ละรายการงานก่อสร้างอย่างชัดเจนโดยให้ถอดแบบคำนวณปริมาณงานจากแบบก่อสร้างที่จะใช้ก่อสร้างนั้น โดยไม่ต้องคิดเผื่อปริมาณงานและวัสดุ เนื่องจากหลักเกณฑ์การประเมินราคางานต้นทุนต่อหน่วยของรายการงานก่อสร้างต่างๆได้เผื่อปริมาณงานและวัสดุที่จะใช้ไว้ให้แล้ว
การถอดแบบคำนวณปริมาณงานต่างๆในงานก่อสร้างชลประทาน มีเหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังนี้
     1)งานเตรียมพื้นที่
ได้แก่ งานถากถาง งานถากถางและล้มต้นไม้ หากไม่ระบุไว้เป็นอย่างอื่น ให้คิดคำนวณปริมาณงานเต็มพื้นที่งานก่อสร้าง ตามที่แสดงไว้ในแบบก่อสร้าง โดยมีหน่วยเป็น ตารางเมตร
     2)งานขุดเปิดหน้าดิน
     ในการก่อสร้างที่จำเป็นต้องขุดเปิดหน้าดินที่ไม่มีคุณภาพหรืออินทรีย์วัตถุออกไปเสียก่อน โดยทำการขุดเปิดหน้าดินให้มีความลึกตามที่กำหนดในแบบหรือใช้ความหนาประมาณ 0.30เมตร   ให้พิจารณาตัดแบ่งช่วงงานออกเป็นช่วงๆ โดยแต่ละช่วงมีความกว้างที่จะขุดเปิดใกล้เคียงกัน แล้วคำนวณหาค่าเฉลี่ยตลอดความกว้างของแต่ละช่วง คูณด้วยความยาวของช่วงนั้นๆ จะได้พื้นที่ขุดเปิดหน้าดินในต่ละช่วง มีหน่วยเป็นตารางเมตร
     จากนั้นนำพื้นที่ขุดเปิเดหน้าดินดังกล่าวมาคูณความลึกประมาณ 0.30เมตร หรือตามที่ระบุ หรือตามสภาพข้อเท็จจริงของพื้นที่นั้น   จะได้ผลลัพธ์เป็น ปริมาตรงานขุดเปิดหน้าดิน มีหน่วยเป็นลูกบาศ์กเมตร
     3)งานดินขุด
     โดยปกติงานก่อสร้างคลองส่งน้ำจะมีระดับต่างๆและ Side Slopeกำหนดไว้แน่นอนในแบบก่อสร้าง ซึ่งสามารถคำนวณหาปริมาณงานดินขุดได้ โดยใช้สูตร
     V = (A1 + 4A2 + A3) X L/6
     เมื่อ
     V = ปริมตรของดินขุดมีหน่วยเป็นลูกบาศ์กเมตร
     A1  และ A3 = พื้นที่รูปตัดขวางของคลองที่จะขุด ตรงปลายทั้งสองของช่วงคลองที่ตัดแบ่ง มีหน่วยเป็น ตารางเมตร
     A2 = พื้นที่รูปตัดขวาง ตรงกลางของช่วงคลอง มีหน่วยเป็ย ตารางเมตร
     L = ความยาวของช่วงคลองที่ตัดแบ่ง มีหน่วยเป็น เมตร
     อนึ่ง สำหรับวิธีการหาพื้นที่รูปตัดขวางของคลอง ถ้ารูปร่างของรูปตัดขวางซับซ้อนไม่เป็นรูปร่างทางเรขาคณิต ก็อาจใช้การวัดพื้นที่โดยตรง
     สำหรับการคำนวณปริมาณงานดินขุดบ่อก่อสร้างของงานอาคารชลประทานทั่วไป ในแบบก่อสร้างจะกำหนดเส้นขอบเขตของการขุดไว้ ซึ่งจะมี Side Slope ประมาณ 1:1  และขนาดก้นบ่อจะกว้างกว่าตัวอาคารประมาณ 1 เมตร โดยรอบ
     ในกรณีที่ระดับดินเดิมมีค่าระดับที่เปลี่ยนแปลงมาก ผู้คิดคำนวณปริมาณงานจะต้องดำเนินการคำนวณจากแบบก่อสร้างตามหลักวิศวกรรม
     4)งานถมดินบดอัดแน่น
     สำหรับงานคลองส่งน้ำให้ใช้ขั้นตอนและวิธีการคิดคำนวณปริมาณวานเช่นเดียวกับงานขุดซึ่งมีหน่วยเป็น ลูกบาศ์กเมตร แต่จะต้องใช้ระดับดินเดิมเปิดหน้าดินออกไปแล้วในการหาพื้นที่รูปตัดขวางของงานดินถม
     สำหรับงานดินถมของงานอาคารและงานท่อ ต้องแบ่งเป็นงานถมบดอัดแน่นด้วยแรงคนหรือถมบดอัดแน่นด้วยเครื่องจักรเบา และงานถมบดอัดแน่นด้วยเครื่องจักร โดยกำหนดให้ทำการถมบดอัดแน่นด้วยแรงคนหรือเครื่องจักรเบาภายในรัศมีประมาณ 1.00 ม. จากตัวอาคารและเหนือท่อ แล้วจึงใช้เครื่องจักรบดอัดแน่นต่อไป
    5)งานขุดดินระเบิดหิน
    สำหรับการคิดคำนวณปริมาณงานของงานขุดระเบิดหิน จะต้องมีผลการสำรวจชั้นดินและนำไปเขียน Profile ของชั้นหินให้ทราบขอบเขตของหินที่ต้องขุดระเบิดให้แน่ชัด โดยปกติจะคิด Side Slope ของงานขุดระเบิดหินประมาณ 0.5 : 1  นอกจากในแบบหรือ Specification จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น โดยมีขั้นตอนและวิธีการคิดคำนวณปริมาณงาน เช่นเดียวกับงานดินขุด ซึ่งมีหน่วยเป็น ลูกบาศ์กเมตร
     6)งานคอนกรีต
     การคิดคำนวณปริมาณงานสำหรับงานคอนกรีตต่างๆนั้น ให้คิดคำนวณจากแบบก่อสร้างโดยตรง มีหน่วยวัดตามที่ระบุไว้ในบัญชีแสดงรายการก่อสร้างสำหรับงานก่อสร้างชลประทาน โดยให้แบ่งตามประเภทของงานคอนกรีต 4 ประเภทคือ งานคอนกรีตล้วนปนหินใหญ่ , งานคอนกรีตโครงสร้าง , งานคอนกรีตดาด , งานคอนกรีตหยาบ
     นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับงานคอนกรีต เช่น พวกวัสดุรอยต่อชนิดต่างๆรวมทั้ง Rubber Water Stop ซึ่งสามารถคำนวณปริมาณงานได้จากแบบก่อสร้างเช่นเดียวกัน โดยมีหน่วยตามที่ระบุไว้ในบัญชีแสดงรายการก่อสร้างสำหรับงานก่อสร้างชลประทาน

     7)งานเหล็กเสริมคอนกรีต
     ให้คิดคำนวณปริมาณงานตามที่แสดงไว้ในแบบก่อสร้างและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในมาตรฐานรายละเอียดการเสริมเหล็กในอาคารคอนกรีตของกรมชลประทานหรือของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย(ว.ส.ท.) ซึ่งรวมถึงส่วนต่อทาบ งอปลาย หรือดัดคอม้า โดยมีหน่วยเป็นกิโลกรัม

     8)งานแบบหล่อคอนกรีต
     ให้คิดคำนวณปริมาณงานตามพื้นที่ผิวคอนกรีตของโครงสร้างแต่ละประเภทที่ต้องมีแบบหล่อคอนกรีตรองรับในขณะหล่อคอนกรีต โดยมีหน่วยเป็นตารางเมตร ซึ่งการยึด การเจาะรู เสียบเหล็ก และอุปกรณ์อื่นๆที่จำเป็นในการทำงาน ให้รวมอยู่ในราคาต้นทุนต่อหน่วย
     9)งานหินเรียง หินทิ้ง และ Filter Materials
     ให้คิดคำนวณปริมาณงานตามขอบเขตที่แสดงไว้ในแบบก่อสร้าง มีหน่วยเป็น ลูกบาศ์กเมตร โดยทั่วไปจะมีวิธีคิดคำนวณปริมาณงานจากพื้นที่ผิวคูณด้วยความหนาของชั้นหินเรียง หินทิ้ง หรือ Filter Materials
     10)งานก่อสร้างสนับสนุนงานก่อสร้างตามแบบ
     กรณีที่ต้องดำเนินการหรือปฏิบัติงานซึ่งแบบก่อสร้างไม่ได้กำหนดไว้ แต่มีความจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้งานก่อสร้างเสร็จตามวัตถุประสงค์ ให้คิดคำนวณปริมาณงานที่ต้องดำเนินการตามหลักวิศวกรรม

ที่มา : หน้า 62 หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลาง งานก่อสร้างชลประทาน กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น