วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2559

79 งานระบบปรับอากาศและเครื่องกล (1/2)

ในการถอดแบบคำนวณปริมาณงานในส่วนของงานระบบปรับอากาศและเครื่องกล ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และแนวทางดังต่อไปนี้
1)ศึกษาทำความเข้าใจและวิเคราะห์แบบรูปรายการรวมทั้งรายละเอียดของวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้และติดตั้ง
ในการประมาณราคาในส่วนของงานระบบปรับอากาศและเครื่องกล นอกจากต้องศึกษาแบบรูปรายการอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว ยังจะต้องศึกษารายการรายละเอียดและข้อกำหนดประกอบแบบรูปรายการอย่างถี่ถ้วนด้วย เพราะแบบรูปรายการอาจแสดงไว้เพียงสัญลักษณ์เท่านั้น มิได้กำหนดรายละเอียดประกอบอื่นใดเพิ่มเติมไว้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในแบบรูปรายการงานระบบปรับอากาศและเครื่องกลจะแสดงให้ทราบถึง
-ระบบปรับอากาศ (Air Conditioning System)
-ระบบระบายอากาศ (Ventilation System)
-ระบบปรับอากาศห้องสะอาด (Clean Room)
-ระบบปรับอากาศพิเศษสำหรับห้องคอมพิวเตอร์ (Precision Air Condtioning)
-ระบบห้องเย็น (Cold Room)
-ระบบอัดลมบันไดหนีไฟ (Staircase Pressure System)
-ระบบไอน้ำและน้ำร้อน (Boiler and Hot Water System)
-ระบบก๊าซเชื้อเพลิง (LPG Gas System)
-ระบบก๊าซทางการแพทย์ (Medical Gas)
-ระบบท่อในโรงงานอุตสาหกรรม (Industrial Piping)
-ระบบก๊าซอัดแรงดันสูง (High Pressure Gas CO2, N2 Gas System)
-ระบบลิฟต์และบันไดเลื่อน (Elevator and Escalator)
-ระบบเครนขนถ่ายวัสดุ
เป็นต้น
โดยในบางระบบอาจดำเนินการเฉพาะในส่วนของการเดินท่อในระบบสุขาภิบาล เช่น ระบบท่อน้ำร้อน ระบบท่อก๊าซLPG เป็นต้น และในแต่ละอาคารอาจจะมีไม่ครบทุกระบบตามที่กล่าวมา แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับระบบหลักๆ ที่โครงการ/งานก่อสร้างอาคารส่วนใหญ่มี จะประกอบด้วย
-ระบบปรับอากาศ (Air Conditioning System)
-ระบบระบายอากาศ (Ventilation System)
-ระบบลิฟต์และบันไดเลื่อน (Elevator and Escalator)
ทั้งนี้ แบบรูปรายการในส่วนของงานระบบปรับอากาศและเครื่องกลนั้น โดยทั่วไปแล้ว จะประกอบด้วย
-สารบัญแบบ
-สัญลักษณ์และความหมาย
-ตารางแสดงอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ
-แผนภาพแนวดิ่งของระบบต่างๆ(Riser Diagram)
-แผนภาพแสดงการเดินท่อกับอุปกรณ์ เครื่องจัก และอื่นๆ
-ผังบริเวณ
-แผนผังแสดงงานระบบปรับอากาศและหรือเครื่องกลชั้นต่างๆของอาคาร
-แบบแสดงรูปตัดของอาคาร
-แผนผังไฟฟ้ากำลัง
-แผนผังระบบควบคุม
-แบบขยายรายละเอียดการติดตั้งอุปกรณ์

เป็นต้น
ซึ่งในแบบรูปรายการแต่ละแผ่นอาจแสดงรายละเอียดไว้ระบบเดียวหรือหลายระบบ ขึ้นอยู่กับปริมาณงานและปริมาณงานและรายละเอียดที่ต้องแสดง หากมีรายละเอียดมากก็ควรแยกตามระบบต่างๆก่อน แล้วจึงแบ่งเป็นแต่ละงาน/กลุ่มงานต่อไป และเมื่อศึกษาแบบรูปรายการและรายละเอียดรวมทั้งข้อกำหนดต่างๆดีแล้ว ก็สามารถเริ่มการแยกเนื้องานและสำรวจปริมาณต่อไป
2)การแยกงานและปริมาณวัสดุอุปกรณ์เพื่อกำหนดรายการและปริมาณงาน
เมื่อได้ศึกษาแบบรูปรายการและรายการละเอียดต่างๆโดยภาพรวมแล้ว จึงทำการแยกงานและปริมาณวัสดุ อุปกรณ์ ซึ่งจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งมีข้อควรระวัง ดังนี้
2.1)การเลือกใช้บรรทัดมาตราส่วน(Scale) ต้องเป็นมาตราส่วนเดียวกันกับในแบบรูปรายการในแต่ละแผ่น โดยอาจใช้มาตราส่วนเดียวหรือหลายมาตราส่วนก็ได้ โดยสังเกตได้จากข้อกำหนดที่กำกับอยู่ใต้แบบรูปรายการ
2.2)ควรมีการเผื่อปริมาณวัสดุ ซึ่งเกิดจากความเสียหายหรือเศษวัสดุเหลือจากการใช้งาน เช่น เศษจากการตัดท่อ เป็นต้น
2.3)ควรมีการเผื่อวัสดุเนื่องจากการติดตั้ง เช่น การหลบหลีกโครงสร้างของอาคารส่วนที่เป็นคานรวมทั้งท่อในแนวดิ่งที่ไม่สามารถแสดงไว้ในแบบรูปรายการได้ โดยทั่วไปการเผื่อวัสดุกรณีนี้ จะเผื่อไว้ประมาณ10%ของปริมาณวัสดุที่สำรวจได้
2.4)การแยกงานและปริมาณวัสดุอุปกรณ์เพื่อคำนวณราคาในงานระบบปรับอากาศนั้น ผู้ถอดแบบคำนวณราคาจะต้องเข้าใจในเรื่องระบบปรับอากาศก่อนว่ามีระบบ โครงสร้าง และการทำงานเป็นอย่างไร โดยได้แบ่งระบบปรับอากาศ ได้เป็นดังนี้
2.4.1)ระบบปรับอากาศแบบแยกส่วน(Split System)
2.4.2)ระบบปรับอากาศแบบน้ำเย็นระบายความร้อนด้วยอากาศ(Chilled Water Air Cooled System)
2.4.3)ระบบปรับอากาศพิเศษต่างๆ เช่น
-ระบบปรับอากาศห้องคอมพิวเตอร์ (Precision Air Conditioning) และ
-ระบบปรับอากาศห้องสะอาด(Clean Room) เป็นต้น
2.4.4)ระบบห้องเย็น(Cold Room)
2.4.5)ระบบระบายอากาศ(Ventilation System)
สำหรับระบบปรับอากาศแบบส่วนกลาง ยังสามารถแบ่งย่อยได้เป็นแบบถังน้ำเย็น(Chilled Water Storage)และแบบถังเก็บน้ำแข็ง(Ice Storage) ซึ่งสองระบบนี้จะช่วยในการประหยัดค่าไฟฟ้าได้มาก เนื่องจากเครื่อวทำน้ำแข็งทำงานในตอนกลางคืนค่าไฟฟ้าราคาจะถูกกว่าเวลากลางวัน
เมื่อเข้าใจในระบบปรับอากาศแล้ว ก็สามารถแยกรายการ/งานและปริมาณวัสดุุปกรณ์ต่างๆได้โดยละเอียดต่อไป
ในส่วนของการสำรวจและแยกรายการ/งานและปริมาณวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบปรับอากาศแบบน้ำเย็นระบายความร้อนด้วยน้ำนั้น ปกติจะแยกวัสดุอุปกรณ์ออกเป็น 2 ส่วนดังนี้
ส่วนที่ 1 อุปกรณ์ที่นับจำนวนได้ เช่น
-เครื่องทำน้ำเย็น (Chiller) มีกี่ชุด ขนาดกี่ตัน และเป็นเครื่องแบบใด
-หอผึ่งน้ำ (Cooling Tower) มีกี่ชุด ขนาดกี่ตัน และเป็นเครื่องแบบใด
-ปั๊มน้ำ มีกี่ชุด ขนาดกี่ลิตร/วินาที ความเร็วรอบเท่าใด และมอเตอร์กี่แรงม้า
-เครื่องมือส่งลมเย็น และเครื่องเป่าลมเย็น
-อุปกรณ์กรองน้ำ(Softener)
-ถังขยายตัวกรองน้ำ(Expantion Tank)
-ประตูน้ำ (Valueต่างๆ)
-อุปกรณ์ไฟฟ้า(Electrical Swtich Gear)
-อื่นๆ
ส่วนที่ 2 อุปกรณ์ที่วัดเป็นปริมาณ เช่น
-ท่อน้ำเย็น ท่อน้ำคอนเทนเนอร์
-ข้อต่ออุปกรณ์
-ฉนวนหุ้มท่อน้ำ
-ท่อลม
-ฉนวนหุ้มท่อลม
-หัวจ่ายลมและหัวดูดลม
อุปกรณ์ในส่วนที่2 ซึ่งวัดเป็นปริมาณดังกล่าว จะต้องวัดตามความยาวและต้องเผื่อค่าการลบมุม การเลี้ยวโค้ง ความสูงในแนวดิ่ง ด้วย

ที่มา : หน้า 131 หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลาง งานก่อสร้างอาคาร กุมภาพันธ์ 2555






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น