4)วิธีการถอดแบบสำรวจปริมาณวัสดุอุปกรณ์
4.1)งานระบบไฟฟ้า
4.1.1)งานระบบไฟฟ้าแรงสูง
ขอบเขตงานระบบไฟฟ้าแรงสูง กำหนดให้เริ่มต้นจากจุดติดตั้งมิเตอร์ของการไฟฟ้า หรือจุดต่อเชื่อมรับไฟฟ้าจากระบบจำหน่ายของการไฟฟ้า เดินสายไฟฟ้าแรงสูง ระบบสายอากาศหรือระบบสายใต้ดินต่อเนื่องเข้าโครงการ/งานก่อสร้าง ไปยังตำแหน่งติดตั้งสวิตซ์เกียร์แรงสูง และ/หรือหม้อแปลงไฟฟ้า เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับอาคารต่อไป
4.1.1.1)การระบุรายละเอียดในการคำนวณราคา ควรระบุอย่างน้อย ดังนี้
(1)อุปกรณ์ป้องกันระบบ เช่น สวิตซ์เกียร์แรงสูง (RMU) ฟิวส์ Dropout ล่อฟ้าระบุขนาดพิกัดแรงดัน พิกัดกระแสลัดวงจร และอื่นๆ ตามที่กำหนดในแบบและรายการประกอบแบบ เช่น RMU 2 In/2 Out 24kV เป็นต้น
(2)เสาไฟฟ้าแรงสูง ระบุความยาวเสา ระดับแรงดันที่ใช้ พร้อมอุปกรณ์ประกอบการติดตั้ง ตามมาตรฐานการไฟฟ้า
(3)สายไฟฟ้า ระบุชนิด ขนาด และพิกัดแรงดันใช้งานของสาย ตามที่ระบุในแบบ
(4)Duct Bank ระบุขนาดและชนิดท่อ และจำนวนท่อร้อยสายภายใน Duct Bank เช่น 2x2 Duct Bank(HDPE 125mm) เป็นต้น
(5)บ่อดึงสาย บ่อพักสาย เช่น Man Hole Hand Hole ระบุขนาดหรือชนิด(TYPE) ตามที่กำหนดในแบบและรายการประกอบแบบ
4.1.1.2)การถอดแบบสำรวจปริมาณ
(1)สวิตซ์เกียร์แรงสูง (RMU) บ่อดึงสาย บ่อพักสาย นับจำนวนเป็นชุด
(2)เสาไฟฟ้าแรงสูงและอุปกรณ์ นับจำนวนเป็นชุด (รวมอุปกรณ์ประกอบการติดตั้ง)
(3)สายไฟฟ้าแรงสูง วัดความยาวมีหน่วยเป็นเมตร โดยวัดเผื่อปลายสายแนวตั้งทั้งด้านต้นทางและปลายทางตามสมควร (ให้อยุ๋ในดุลยพินิจของผู้คำนวณราคากลาง)
(4)Duct Bank วัดความยาวมีหน่วยเป็นเมตร
4.1.1.3)การเผื่อความยาว
(1)สายไฟฟ้าแรงสูงสายอากาศ เผื่อความยาว 20-25%
(2)สายไฟฟ้าแรงสูงใต้ดิน เผื่อความยาว 10-15%
(3)HV Duct Bank เผื่อความยาว 10-15%
4.1.1.4)การเผื่อเบ็ดเตล็ด
(1)สายไฟฟ้าแรงสูงสายอากาศ เผื่่อเบ็ดเตล็ด 5-10%
(2)สายไฟฟ้าแรงสูงใต้ดิน เผื่อเบ็ดเตล็ด 10-15%
(3)HV Duct Bank เผื่อเบ็ดเตล็ด 10-15%
4.1.2)หม้อแปลงไฟฟ้า
เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนระดับแรงดันตามมาตรฐานการไฟฟ้า และจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับอาคาร ประกอบด้วย หม้อแปลงไฟฟ้าชนิดน้ำมันแบบติดตั้งบนนั่งร้านหรือตั้งพื้นบนฐานคอนกรีตล้อมรั้ว และหม้อแปลงไฟฟ้าชนิดแห้งพร้อมตู้ครอบที่มีระบบระบายอากาศและระบบควบคุมรายละเอียดจากแบบและรายการประกอบแบบ
4.1.2.1)การระบุรายละเอียดในการคำนวณราคา ควรระบุอย่างน้อยดังนี้
(1)ระบุชนิด ขนาด พิกัดด้านกำลังไฟฟ้า หน่วยเป็น เควีเอ และขนาดพิกัดแรงดันตามที่ระบุในแบบพร้อมอุปกรณ์ประกอบมาตรฐานครบชุด ตามที่ระบุในแบบแปลนและรายการประกอบแบบ
(2)กรณ๊เป็นหม้อแปลงชนิดน้ำมันควรระบุรายการนั่งร้าน หรือรั้วและฐานคอนกรีตแยกรายการจากตัวหม้อแปลง
4.1.2.2)การถอดแบบสำรวจปริมาณ
(1)หม้อแปลงชนิดน้ำมัน หรือหม้อแปลงชนิดแห้ง พร้อมตู้ครอบและอุปกรณ์ครบชุด ให้ถอดแบบนับจำนวนเป็นชุด
(2)เฉพาะนั่งร้านหม้อแปลง หรือรั้ว และฐานคอนกรีต ให้คำนวณแบบเหมารวม
4.1.3)เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง
ใช้สำหรับจ่ายกำลังไฟฟ้าสำรองกรณีำฟฟ้าจากการไฟฟ้าดับ ให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าในอาคาร เช่น ลิฟต์ ดับเพลิง ปั๊มน้ำ ไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบอัดอากาศ และอื่นๆ ตามที่ระบุรายละเอียดในแบบและรายการประกอบแบบ
4.1.3.1)การระบุรายละเอียดในรายการคำนวณราคา ควรระบุอย่างน้อยดังนี้
(1)ระบุชนิด ขนาดพิกัดด้านกำลังไฟฟ้า หน่วยเป็น เควีเอ หรือ กิโลวัตต์ และขนาดพิกัดแรงดันตามที่ระบุในแบบ พร้อมอุปกรณ์ประกอบมาตรฐานครบชุด ตามที่ระบุในแบบและรายการประกอบแบบ
(2)กรณ๊ติดตั้งภายนอกอาคารควรระบุพร้อมชุดตู้ครอบกันน้ำ ตู้ครอบกันเสียงดังเกินมาตรฐาน และฐานคอนกรีต
(3)ระบุรายละเอียดขนาดพิกัดกระแสใช้งานของ โอโตเมติกส์ทรานส์เฟอร์สวิตซ์(ATS) พร้อมชุดควบคุม (กรณีรูปแบบกำหนดให้รวมในหมวดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง)
4.1.3.2)การถอดแบบสำรวจปริมาณ
(1)เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง ใช้วิธีการนับจำนวนเป็นชุด พร้อมอุปกรณ์ประกอบมาตรฐานครบชุด ตามที่ระบุรายละเอียดในแบบและรายการประกอบแบบ
(2)ระบบป้องกันเสียงในห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง ถอดแบบแยกรายการวัดปริมาณพื้นที่เป็นตารางเมตร
(3)ระบบระบายอากาศเข้าและระบบระบายอากาศออก ถอดแบบแยกรายการวัดปริมาณงานเป็น x (ระบุ)
4.1.4)แผงสวิตซ์เกียร์ต่ำ
ครอบคลุมถึงแปงสวิตซ์ไฟฟ้าประธาน(MDB) แผงสวิตซ์ไฟฟ้าประธานฉุกเฉิน (EMDB) แผงจ่ายไฟรอง(DB) และอื่นๆ ตามที่ปรากฏในแบบวงจรเส้นเดียว (Single Line Diagram)
4.1.4.1)การระบุรายละเอียดในรายการคำนวณราคา ควรระบุอย่างน้อยดังนี้
(1)เซอร์กิตเบรกเกอร์ ระบุชนิด ขนาดพิกัดกระแสใช้งาน (AT) ขนาดพิกัดกระแสลัดวงจร(IC) จำนวนขั้ว(Pole) ตามที่ระบุในแบบและรายการประกอบแบบ
(2)ระบุชุดอุปกรณ์ประกอบเซอร์กิตเบรกเกอร์ เช่น ชุด Trip Unit ชุด ShuntnTrip ชุด Ground Fault Protection เป็นต้น
(3)ระบุรายละเอียดขนาดพิกัดกระแสใช้งานของ โอโตเมติกซ์ทรานส์เฟอร์สวิตซ์(ATS) พร้อมชุดควบคุม (กรณีรูปแบบกำหนดให้รวมในหมวดแผงสวิตซ์เกียร์แรงต่ำ หรือแผงสวิตซ์ไฟฟ้าประธาน)
(4)คาปาซิเตอร์แบ๊งค์ ชุดควบคุมคาปาซิเตอร์ แมกเนติกคอนแท็คเตอร์ ฟิวส์และดีจูน ฟิลเตอร์ ระบุชนิด ขนาด ตามที่ระบุในแบบและรายการประกอบแบบ
(5)ตู้ (Cubicle) บัสบาร์ อุปกรณ์เครื่องวัด และอุปกรณ์ประกอบการติดตั้ง ระบุรายการแยกคำนวณแบบเหมารวม ระบุฟอร์มตู้และ/หรือชนิดการทดสอบ เช่น ตู้ไฟฟ้าทดสอบเฉพาะแบบ(Type Test Assemblies ; TTA) ตู้ มอก. เป็นต้น
4.1.4.2)การถอดแบบสำรวจปริมาณ
(1)เซอร์กิตเบรกเกอร์ โอโตเมติกทรานส์เฟอร์สวิตซ์ (ATS) (ถ้ามี) พร้อมอุปกรณ์ประกอบ ถอดแบบนับ จำนวนเป็นชุด
(2)คาปาซิเตอร์แบ๊งค์ ชุดควบคุมคาปาซิเตอร์ แมกเนติกคอนแท๊คเตอร์ ฟิวส์ และดีจูน ฟิลเตอร์ ถอดแบบนับจำนวนเป็นชุด
(3)ตู้ (Cubicle) บัสบาร์ อุปกรณ์เครื่องวัด และอุปกรณ์ประกอบการติดตั้ง คิดคำนวณแบบเหมารวม
4.1.5)แผงจ่ายไฟย่อย หรือแผงย่อย (Panel Board or Load Center)
หมายถึง แผงจ่ายไฟย่อยระบบไฟฟ้าแสงสว่าง แผงจ่ายไฟย่อยเต้ารับไฟฟ้า แผงจ่ายไฟย่อยระบบปรับอากาศ และแผงจ่ายไฟย่อยอื่นๆ ตามที่ระบในแบบ
4.1.5.1)การระบุรายละเอียดในการคำนวณราคา ควรระบุอย่างน้อยดังนี้
(1)ระบุจำนวนวงจร ขนาดพิกัดกระแสใช้งานสูงสุดของ Main Lug ทั้งแบบมีเมนและไม่มีเมนเซอร์กิตเบรกเกอร์ เช่น แผงขนาด 1 2 วงจร ขนาด Main Lug 100A ไม่มีเมนเซอร์กิตเบรกเกอร์ แผงขนาด 24 ขนาดMain Lug 100A เมนเซอร์กิตเบรกเกอร์ 60AT, 3P IC 25KA เป็นต้น
(2)ขนาดพิกัดกระแสใช้งาน(AT) กระแสลัดวงจร(IC) และจำนวนขั้ว(Pole) ของเซอร์กิตเบรกเกอร์เมน เช่น 60AT, 3P IC 18 kA, 100AT,3P IC 25 kA เป็นต้น
(3)ขนาดพิกัดกระแสใช้งาน(AT) กระแสลัดวงจร (IC) และจำนวนขั้ว (Pole) ของเซอร์กิตเบรกเกอร์ย่อย (Miniature CB) เช่น 16AT, 1P IC 6 kA, 32AT, 3P IC 10kA เป็นต้น
4.1.5.2)การถอดแบบสำรวจปริมาณ
(1)ถอดแบบสำรวจปริมาณด้วยวิธีนับจำนวนแยกรายการวัสดุอุปกรณ์ในแต่ละแผงย่อย ตามรายละเอียดที่แสดงในแบบและรายการประกอบแบบ หรือ
(2)ถอดแบบสำรวจปริมาณด้วยวิธีการนับจำนวน โดยสรุปรวมรายการแผงย่อยที่มีชนิด ขนาด และจำนวนวัสดุอุปกรณ์เท่ากัน เช่น จำนวนวงจรย่อย ขนาด Main Lug ขนาดเมนเซอร์กิตเบรกเกอร์ ขนาด และจำนวนเซอร์กิตเบรกเกอร์ย่อยเท่ากัน เป็นต้น
4.1.6)ท่อสายเมน
หมายถึง ท่อสายจากมิเตอร์การไฟฟ้า(แรงต่ำ) หรือจากหม้อแปลงไฟฟ้า ถึงแผงสวิทซ์ไฟฟ้าประธาน(MDB)
4.1.6.1)การระบุรายละเอียดในการคำนวณราคา ควรระบุอย่างน้อยดังนี้
(1)ชนิดท่อร้อยสายไฟฟ้า เช่น RMC ,IMC, EMT, HDPE, PVC เป็นต้น และขนาดท่อร้อยสายไฟฟ้าหน่วยเป็นนิ้ว หรือเป็นมิลลิเมตรตามที่ระบุในแบบ
(2)ชนิดสายไฟฟ้า เช่น THW , NYY , CV เป็นต้น จำนวนแกน (Core) เช่น 1 Core, 2 Core, 3 Core, 4 Core เป็นต้น และขนาดสายไฟฟ้า หน่วยเป็นตารางมิลลิเมตรตามที่ระบุในแบบ
4.1.6.2)การถอดแบบสำรวจปริมาณ
(1)ถอดแบบสำรวจปริมาณด้วยวิธีการวัดปริมาณความยาวทั้งหมดตามแนวนอนและแนวตั้งตามความเป็นจริง โดยคำนึงถึงสภาพหน้างานจริงที่จะติดตั้งด้วย
(2)ท่อ ให้คำนวณเผื่อความยาว 5-10% และเผื่อเบ็ดเตล็ด 15-20%
(3)สาย ให้คำนวณเผื่อความยาว 5-10% และเผื่อเบ็ดเตล็ด 5-10%
4.1.7)ท่อสายป้อน (Feeder)
หมายถึง ท่อสายจากแผงสวิทซ์ไฟฟ้าประธาน(MDB) ถึงแผงไฟฟ้าสำรอง(DB) แผงย่อย(LP) ระบบไฟฟ้า แผงย่อยระบบปรับอากาศ และอื่นๆ เช่น แผงจ่ายไฟสำหรับระบบสุขาภิบาล แผงจ่ายไฟระบบลิฟต์ เป็นต้น
4.1.7.1)การระบุรายละเอียดในรายการคำนวณราคา ควรระบุอย่างน้อย ดังนี้
(1)ชนิดท่อร้อยสายไฟฟ้า เช่น RMC, IMC, EMT, HDPE, PVC เป็นต้น และขนาดท่อร้อยสายไฟฟ้า หน่วยเป็นนิ้วหรือเป็นมิลลิเมตรตามที่ระบุในแบบ
(2)ชนิดสายไฟฟ้า เช่น THW, NYY, VCT เป็นต้น จำนวนแกน(Core) เช่น 1 Core, 2 Core, 3 Core, 4 Core เป็นต้น และขนาดสายไฟฟ้า หน่วยเป็นตารางมิลลิเมตรตามที่ระบุในแบบ
4.1.7.2)การถอดแบบสำรวจปริมาณ
(1)ถอดแบบสำรวจปริมาณด้วยวิธีการวัดปริมาณความยาว ทั้งจามแนวนอนและแนวตั้ง ตามความเป็นจริงจากต้นทางถึงปลายทาง โดยคำนึงถึงสภาพหน้างานจริงที่จะติดตั้งด้วย
(2)ท่อ คิดคำนวณเผื่อความยาว 10-15% และเผื่อเบ็ดเตล็ด 15-20%
(3)สาย คิดคำนวณเผื่อความยาว 10-15% และเผื่อเบ็ดเตล็ด 5-10%
4.1.8)ท่อสายวงจรย่อย (Branch Circuit)
หมายถึงท่อสายวงจรย่อย วงจรดวงโคม และวงจรย่อยเต้ารับ หรืออื่นๆที่คล้ายหรือมีลักษณะเดียวกัน โดยเป้นท่อสายวงจรย่อย จากแผงย่อยไปยังดวงโคม หรือสวทิซ์ หรือเต้ารับจุดแรก เรียกว่า Home Run ให้ถอดแบบสำรวจปริมาณด้วยวิธีวัดปริมาณความยาว ผู้ถอดแบบคำนวณราคาควรศึกษารายละเอียดวิธีการเดินสายตามที่กำหนดในแบบและรายการประกอบแบบก่อนดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันความคลาดเคลื่อนในการวัดปริมาณความยาวของท่อสายไฟฟ้า เนื่องจากวิธีการเดินสายหากเป็นการเดินสายเกาะผนัง ปริมาณความยาวและวิธีการวัดจะแตกต่างไม่เหมือนกับสายที่เดินร้อยสาย
โดยทั่วไปแบบแปลนจะแสดงวงจรย่อยไฟฟ้าแสงสว่างและวงจรย่อยเต้ารับ จะไม่แสดงชนิด ขนาด จำนวนสายไฟฟ้า และชนิดและขนาดท่อร้อยสาย ในแบบแปลน ดังนั้น ก่อนการวัดความยาวของท่อสายวงจรย่อย ผู้ถอดแบบคำนวณราคาต้องศึกษาวิเคราะห์รายละเอียดจากแบบและรายการประกอบแบบ คิดคำนวณจำนวนสายไฟฟ้าในแต่ละท่อร้อยสาย และเลือกชนิด ขนาดท่อร้อยสายที่ได้ตามาตรฐาน
4.1.8.1)การระบุรายละเอียดในรายการคำนวณราคา ควรระบุอย่างน้อยดังนี้
(1)ชนิดท่อร้อยสายไฟฟ้า เช่น RMC, IMC, EMT, PVC, uPVC เป็นต้น และขนาดท่อร้อยสายไฟฟ้า หน่วยเป็นนิ่วหรือเป็นมิลลิเมตร ตามที่ระบุในแบบ
(2)ชนิดสายไฟฟ้า เช่น THW, NYY, VCT เป็นต้น จำนวนแกน(Core) เช่น 1 Core, 2 Core, 3 Core, 4 Core เป็นต้น และขนาดสายไฟฟ้า หน่วยเป็นตารางมิลลิเมตรตามทีระบุในแบบ
4.1.8.2)การถอดแบบสำรวจปริมาณ
(1)วัดและคำนวณความยาว ทั้งตามแนวนอนและแนวตั้ง โดยคำนึงถึงสภาพหน้างานจริง ที่จะติดตั้งด้วย
(2)ท่อ คิดคำนวณเผื่อความยาว 15-20% และเผื่อเบ็ดเตล็ด 15-20%
(3)สาย คิดคำนวณเผื่อความยาว 15-20% และเผื่อเบ็ดเตล็ด 5-10%
4.1.9)บัสเวย์ (Busways)
ตัวนำของบัสเวย์(Busways) เป็นชนิดทองแดงหรืออลูมิเนียม ซึ่งแบ่งตามลักษณะการใช้งานเป็น 2 แบบ คือ แบบFeeder Busways และ แบบ Plug-In Busways การถอดแบบคำนวณราคาพิจารณาได้จากรายละเอียดที่กำหนดไว้ในแบบและรายการประกอบแบบ
4.1.9.1)การระบุรายละเอียดในรายการคำนวณราคา ควรระบุอย่างน้อยดังนี้
(1)ชนิดตัวนำทองแดงหรืออลูมิเนียม
(2)ขนาดพิกัดกระแสใช้งาน(A) และขนาดพิกัดกระแสลัดวงจร(IC)
(3)ระดับการป้องกันสิ่งห่อหุ้ม (Ingress of Protection ; IP)
(4)ชนิด Feeder Busways หรือ Plug-In Busways
4.1.9.2)การถอดแบบสำรวจปริมาณ
(1)บัสเวย์ (Busways) ถอดแบบวัดปริมาณตามความยาวแนวนอนและแนวตั้งตามความเป็นจริง โดยผู้ถอดแบบคำนวณราคาสามารถพิจารณาได้จากแบบ ซึ่งอาจแสดงแผนผังเส้นทางการติดตั้งและแผนภาพไอโซเมตริก กรณีไม่มีแผนผังและแผนภาพไอโซเมตริกในแบบ ถอดแบบคำนวณราคาสามารถกำหนดแนวเส้นทางการติดตั้งแบบแปลนได้ ทั้งนี้ผู้ถอดแบบคำนวณราคาต้องมีความรู้ความเข้าใจและวิธีการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวด้วย
(2)Plug-In Unit หรือ Tap Off Unit หรือ Plug In CB ใช้วิธีนับจำนวน
(3)อุปกรณ์ประกอบการติดตั้ง เช่น Elbow , Flanged End ,End closures ใช้วิธีการนับจำนวน
(4)คิดคำนวณเผื่อความยาว 5-10% และเผื่อเบ็ดเตล็ด 5-10%
4.1.10)ดวงโคมไฟฟ้า
ดวงโคมไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีรายละเอียดลักษณะการใช้งานหลากหลายประเภท แต่อย่างไรก็ตาม สามารถแบ่งตามลักษณะการใช้งานได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ดวงโคมไฟฟ้าภายในอาคาร และดวงโคมไฟฟ้าภายนอกอาคาร ในการถอดแบบสำรวจปริมาณวัสดุอุปกรณ์ดวงโคมไฟฟ้า ให้ใช้วิธีการนับจำนวนเป็นชุดโดยรวมอุปกรณ์ประกอบ
4.1.10.1)การระบุรายละเอียดในรายการคำนวณราคา ควรระบุอย่างน้อยดังนี้
(1)ชื่อ ชนิด และรายละเอียด ดวงโคม ตามสมควร
(2)ชนิดหลอดที่ใช้ จำนวนหลอด ขนาดพิกัดกำลังไฟฟ้าหน่วยเป็นวัตต์
(3)อุปกรณ์ประกอบ เช่น บัลลาสต์โลว์ลอส บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
(4)กรณีใช้ติดตั้งภายนอกอาคารควรระบุค่า IP ตามที่กำหนดไว้ในแบบ
(5)ดวงโคมไฟฉุกเฉินควรระบุขนาดพิกัดกระแส-ชั่วโมง(Ah) ของแบตเตอรี่ด้วย
4.1.10.2)การถอดแบบสำรวจปริมาณ
(1)นับจำนวนเป็นชุด โดยแยกเป็นแต่ละชนิด ตามที่กำหนดในแบบ สัญลักษณ์ และรายละเอียดของดวงโคม
(2)ดวงโคมที่ใช้ชุดควบคุมการเปลี่ยนสี หรือชุดๅDriver หรือชุดหม้อแปลงร่วมกัน เช่น ดวงโคมที่ใช้หลอดLED ควรถอดแบบนับจำนวนแยกรายการชุดควบคุม ตามที่ใช้งานจริง
(3)ดวงโคมประเภทติดตั้งบนราง(Track Light) ให้ถอดแบบนับจำนวนดวงโคมเป็นชุด ส่วนราง Track Light ควรระบุความยาวเป็นเมตร และถอดแบบนับจำนวนเป็นชุดแยกตามขนาดความยาวที่ระบุ
(4)ดำเนินการถอดแบบนับจำนวนในแบบแปลนด้วยมือ หรือใช้คำสั่งถอดแบบนับจำนวนใน Drwaing Fileด้วยโปรแกรม AutoCAD หรือโปรแกรมอื่นๆ
4.1.11)สวิตซ์และเต้ารับไฟฟ้า
สวิตซ์ หมายถึงอุปกรณ์ควบคุมการปิด เปิด ดวงโคมไฟฟ้า ควบคุมการหรี่ไฟ ควบคุมพัดลมระบายอากาศ หรือ อุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้อง มีทั้งแบบกดปิด เปิด แบบสัมผัส แบบตรวจจับความเข้มข้นของแสง แบบตรวจจับการเคลื่อนไหว แบบดิจิตอล เป็นต้น
เต้ารับไฟฟ้า หมายถึงอุปกรณ์ที่มีหน้าสัมผัส ติดตั้งเพื่อเป็นจุดจ่ายไฟสำหรับเต้าเสียบ 1 ตัว มีทั้งแบบ 1 เฟส และ 3 เฟส เต้ารับไฟฟ้าที่ใช้ในงานอาคารส่วนใหญ่เป็นแบบ 1 เฟส และควรเป็นชนิดมีขาดิน
4.1.11.1)การระบุรายละเอียดในรายการคำนวณราคา ควรระบุอย่างน้อยดังนี้
(1)ชนิด ขนาดพิกัดกระแสใช้งานสูงสุด ขนาดพิกัดแรงดันของสวิตซ์หรือเต้ารับหรือระบุขนาดกำลังไฟฟ้าเป็นวัตต์กรณีที่เป็นสวิตซ์หรี่ไฟ (Dimmer Switch)
(2)เต้ารับไฟฟ้าควรระบุเป็นชนิดเต้ารับเดี่ยวหรือเต้ารับคู่ มีขาดินหรือไม่มีขาดิน ตามที่กำหนดในแบบและรายการประกอบแบบ
(3)ระบุชนิดฝาครอบ เป็นแบบพลาสติก อลูมิเนียม หรือแสตนเลส หรือกล่องฝังพื้นแบบPOP UP
4.1.11.2)การถอดแบบสำนวจปริมาณ
(1)นับจำนวนเป็นชุด แยกเป็นแต่ละชนิดตามที่กำหนดในแบบ สัญลักษณ์ และ รายละเอียดสวิตซ์และเต้ารับไฟฟ้า
(2)สวิตซ์รี่ไฟแบบดิจิตอลและชุดควบคุม ควรถอดแบบสำรวจปริมาณวัสดุอุปกรณ์แยกรายการเป็นชุด
(3)ดำเนินการถอดแบบโดยนับจำนวนในแบบแปลนด้วยมือ หรือถอดแบบนับจำนวนด้วยโปรแกรม AutoCAD และอื่นๆ
4.1.12)ระบบป้องกันไฟลาม
หมายถึงวัสดุป้องกันไฟลามสำหรับงานระบบไฟฟ้า จะใช้ปิดป้องกันไฟและควันบริเวณช่องท่องานระบบไฟฟ้า และในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามที่ระบุไว้ในแบบและรายการประกอบแบบ ให้ใช้วิธีวัดพื้นที่มีหน่วยเป็น ตร.ม.
4.1.13)ค่าธรรมเนียมการไฟฟ้า
ถอดแบบกำหนดรายการค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยใช้วิธีสืบค้นข้อมูล สอบถาม หรือจากเวบไซด์ของการไฟฟ้า (การไฟฟ้านครหลวง และหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค)
ที่มา : หน้า 109 หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลาง งานก่อสร้างอาคาร กุมภาพันธ์ 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น